ที่มาและความสำคัญ
โครงการอนุรักษ์พืชสมุนไพรได้ดำเนินการจัดตั้งสวนสมุนไพรเพื่อรวบรวมพรรณพืชขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2554 และดำเนินการต่อเนื่องจนถึงปี พ.ศ. 2564 เพื่อสืบสานโครงการอันเนื่องมาจากแนวพระราชดำริฯ ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีวัตถุประสงค์โครงการ คือ
- เพื่อเรียนรู้ เผยแพร่ และสืบสานงานโครงการแนวพระราชดำริฯ
- เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้คุณลักษณะพืชสมุนไพร ประโยชน์และสรรพคุณจากพืชสมุนไพร
- เพื่อให้ความรู้แก่ชุมชนท้องถิ่นในเรื่องของพืชสมุนไพร และร่วมอนุรักษ์สมุนไพรอย่างยั่งยืน
- เพื่อปลูกจิตสำนึกเยาวชน และคนในชุมชนให้รู้จักคุณค่าและหวงแหนพืชสมุนไพรของชุมชน
กิจกรรมของโครงการจึงมุ่งเน้นในการรวบรวมพันธุ์ไม้มีชีวิตของพืชสมุนไพร เพื่อเป็นพืชอ้างอิงที่ถูกต้องตามหลักทางพฤกษศาสตร์ เพื่ออนุรักษ์พันธุ์สมุนไพร ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ แก่นักศึกษา นักเรียน และผู้สนใจ อีกทั้งเพื่อบูรณาการเข้ากับการเรียนการสอนเพื่อปลูกฝั่งจิตสำนึกรักพืชสมุนไพรท้องถิ่นแก่นักศึกษาและคนในท้องถิ่น เป็นงานทางด้านการบำรุงรักษาสวนสมุนไพรและการเข้าสู่การเรียนการสอน และวิจัย โดยมีการจัดเข้าการเรียนการสอน
ในปีงบประมาณ 2564 โครงการได้มีแนวคิดในการพัฒนาสวนสมุนไพรเพิ่มเติม จากพื้นที่เดิมที่จำกัดอยู่เพียงคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีพืชสมุนไพรบางชนิดเท่านั้นที่สามารถเติบโตได้ในพื้นที่ดังกล่าว ทั้งที่มีพืชทุกชนิดที่พบในพื้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม (ส่วนทะเลแก้ว) ล้วนเป็นพืชสมุนไพรเกือบทั้งสิ้น นอกจากนี้พื้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม (ส่วนทะเลแก้ว) มักมีผู้คนในชุมชนมาออกกำลังกาย และใช้ประโยชน์ด้านอื่นมากมาย ดังนั้นโครงการจึงได้ขยายพื้นที่ในการระบุชนิดพืชสมุนไพรให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งมหาวิทยาลัย เพื่อให้วัตถุประสงค์ของโครงการฯ บรรลุเป้าหมายสูงสุดในการเผยแพร่ความรู้สู่คนทั่วไปและปลูกจิตสำนึกเยาวชน และคนในชุมชนให้รู้จักคุณค่าและหวงแหนพืชสมุนไพรของชุมชนได้มากขึ้น