ที่มาและความสำคัญ
สวนรัชมังคลาภิเษก มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม เป็นพื้นที่ที่มีกิจกรรมต่างๆ ที่มีทั้งบุคคลกรภายในมหาวิทยาลัยและบุคคลทั่วไปเข้ามาใช้ประโยชน์ เช่น กิจกรรมการเรียนการสอนในรายวิชาต่างๆ กิจกรรมประเพณีวันลอยกระทงของมหาวิทยาลัย การปฏิบัติธรรม กิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ณ ศาลาสวนธรรมรัชมังคลาภิเษก สักการบูชาศาลเจ้าพ่อทะเลแก้ว ออกกําลังกายเพื่อเดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพ เดินเล่นพักผ่อนหย่อนใจ และเป็นที่ที่มักมีผู้คนเข้ามาพักผ่อนหย่อนใจด้วยการให้อาหารปลา เนื่องจากพื้นที่บริเวณโดยรอบสวนฯ ล้อมรอบด้วยอ่างเก็บน้ำจึงมีปลาอาศัยอยู่หลากหลายชนิด นอกจากสวนรัชมังคลาภิเษกจะมีทัศนียภาพที่สวยงามแล้วยังมีพันธุ์ไม้หลากหลายชนิดซึ่งยังไม่มีการระบุชนิดหรือมีป้ายชื่อพันธุ์ไม้กํากับให้ทราบ เนื่องจากยังไม่เคยมีการสํารวจและจัดจําแนกชนิดของพรรณไม้บริเวณนี้ อย่างเป็นรูปธรรมมาก่อน ทําให้พื้นที่สวนรัชมังคลาภิเษกยังไม่สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพันธุ์ไม้ได้ ทั้งที่มีผู้คนเข้ามาใช้พื้นที่อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นโครงการอนุรักษ์สวนสมุนไพร มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จึงได้ดำเนินการสํารวจและจัดจําแนกพันธุ์ไม้ตามลักษณะทางสัณฐานวิทยา รวมทั้งสืบค้นข้อมูลการใช้ประโยชน์ของพันธุ์ไม้ที่พบในพื้นที่ เพื่อสามารถนําข้อมูลเกี่ยวกับพันธุ์ไม้มาเป็นแหล่งอ้างอิงและแหล่งเรียนรู้ให้กับบุคคลภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยได้เข้ามาศึกษาและทราบข้อมูลเกี่ยวกับชนิดพันธุ์ไม้และข้อมูลการใช้ประโยชน์เบื้องต้นภายในสวนได้ โดยมีการปักป้ายชื่อพันธุ์ไม้ต่างๆ ที่พบในบริเวณสวนรัชมังคลาภิเษก มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติด้านชนิดพันธุไม้สมุนไพร ส่งเสริมให้เกิดความตระหนักต่อการอนุรักษ์พันธุ์ไม้ที่มีอยู่ภายในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง
ผลการสำรวจและจัดจำแนกพันธุ์ไม้
จากการสำรวจพรรณไม้สวนรัชมังคลาภิเษก พบพืชที่มีเนื้อไม้มากที่สุด มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 0.2 m ขึ้นไป โดยพบต้นไม้ตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติทั้งหมด 267 ต้น พบมากที่สุดคือ ปีบ (Millingtonia hortensis L. f.) จำนวน 38 ต้น รองลงมาคือ มะค่าแต้ (Sindora siamensis Miq.) จำนวน 22 ต้น อินทนิล (Lagerstroemia speciosa (L.) Pers.) จำนวน 20 ต้น มะฮอกกานีใบใหญ่ (Swietenia macrophylla King) และพิกุล (Mimusops elengi L.) พบอย่างละ 19 ต้น พืชที่มีเนื้อไม้ส่วนใหญ่มีความสูงเฉลี่ยประมาณ 6-16 เมตร